วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

พระพุทธศาสนามีทฤษฎี และวิธีการที่เป็นสากล

พระพุทธศาสนามีทฤษฎี และวิธีการที่เป็นสากล


1. หลักธรรมที่เป็นสากล เป็นหลักธรรมที่สามารถถือประพฤติปฏิบัติได้ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกชนชั้นของสังคม หากประพฤติปฏิบัติตามก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างสันติสุข โลกเกิดความสงบ ไม่เบียดเบียนทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่ก่อให้เกิดสงครามซึ่งส่งผลเสียหายต่อมวลมนุษยชาติและธรรมชาติอย่างมหาศาล หลักธรรมที่เป็นสากลของพระพุทธศาสนา มีดังต่อไปนี้



1.1 หลักความเป็นกฎธรรมชาติ ได้แก่ถือว่า ความจริงนั้นเป็นกฎธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน พระพุทธเจ้ามีฐานะเป็นผู้ค้นพบ หมายความว่า กฎความจริงของธรรมชาติมันมีอยู่อย่างนั้นเองเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธรรมชาติก็เป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้นไม่มีใครฝืนกฎของธรรมชาติไปได้ ซึ่งหลักการนี้ถือว่าเป็นสากล เพราะการที่เราฝืนธรรมชาติจะก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย เช่น การผลิตเทคโนโลยีที่สนองความต้องการหรือความสะดวกสบายของมนุษย์ ก่อให้เกิดผลเสียต่อธรรมชาติ เกิดมลพิษทั้งในอากาศ ในน้ำ และบนบก เป็นต้น หลักธรรมที่เป็นกฎธรรมชาติ เช่น หลักไตรลักษณ์

หลักไตรลักษณ์ (The Three Characteristics of Existence) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณะ แปลว่า ลักษณะที่ทั่วไปหรือเสมอเหมือนกันแก่สิ่งทั้งปวง ประกอบด้วย



1) อนิจจตา (Impermanence) ได้แก่ ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป



2) ทุกขตา (Stress and Conflict) ได้แก่ ความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว ภาวะที่กดดันฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องอยู่ในตัว ไม่ให้ความพึงพอใจเต็มที่แก่ผู้อยากด้วยตัณหา และก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้เข้าไปอยากเข้าไปยึดด้วยตัณหาอุปาทาน เช่น อยากได้สิ่งของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ไม่ได้ตามที่ต้องการก็เกิดความทุกข์ เป็นต้น



3) อนัตตตา (Soullessness or Non-Self) ได้แก่ ความเป็นอนัตตาความไม่ใช่ตัวตนความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง

ความไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เช่น คนเราเมื่อเกิดมาต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตาย เราไม่สามารถจะบังคับไม่ให้เกิดขึ้นตามความต้องการของเราได้ เพราะมีเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความแก่ ความเจ็บและความตาย เป็นต้น



พระธรรมปิฎกกล่าวว่า ผู้ที่มองเห็นไตรลักษณ์ รู้เท่าทันธรรมดา และมีนิรามิสสุข(สุขที่ไม่ต้องอาศัยเครื่องล่อด้วย

วัตถุสิ่งของหรือกามคุณ)เป็นหลักประกัน แม้จะยังเสพกามสุขก็ไม่มืดมัวถึงกับหมกมุ่นหลงไหล หรือถลำลึกจนเกิดโทษรุนแรง โดยเฉพาะจะไม่เกินเลยจนกลายเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนตนและผู้อื่น และแม้เมื่อความสุขนั้นผันแปรไปก็จะไม่ถูกความทุกข์ใหญ่

ท่วมทับเอา ยังคงดำรงสติอยู่ได้ มีความกระทบใจแต่น้อยเป็นผู้พร้อมที่จะเสวยความสุขในทุกระดับได้อย่างสมบูรณ์เต็มอิ่มเต็มรส

และคล่องใจ เพราะไม่มีความกังวลขุ่นข้องเป็นเงื่อนปมหรือเป็นเครื่องกีดขวางที่คอยรบกวนอยู่ภายใน และยิ่งกว่านั้น ทั้งที่สามารถเสวยสุขทั้งหลายได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด แต่ก็ไม่ติดในความสุขเหล่านั้นไม่ว่าจะประณีตหรือดีวิเศษ

1.2 หลักของความเป็นเหตุเป็นผล หรือความเป็นเหตุปัจจัยแบบอิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย เรียกว่า “กฎปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งมีสาระสำคัญโดย


ย่อว่า “อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ; อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ. “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี; เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี”

อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ; อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฒติ. “เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด; เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ”

หมายความว่า เมื่อมีผลอย่างหนึ่ง ก็มีเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลเช่นนั้น เช่น เมื่อเราปลูกต้นมะม่วง ต้นมะม่วงงอกงามขึ้นมาก็เป็นผล และมีเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดเป็นต้นมะม่วง เช่น อาศัยดิน อาศัยน้ำ อาศัยออกซิเจน อาศัยอุณหภูมิที่พอเหมาะ อาศัยปุ๋ย เป็นต้น



1.3 หลักศรัทธา เป็นหลักศรัทธาที่นำมาสู่ปัญญา นั่นคือ ความไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ จะต้องเชื่อความจริงที่พิสูจน์ได้ ทดลองได้ หลักธรรมนี้ได้แก่ “กาลามสูตร” เช่น อย่าเชื่อ เพราะได้ฟังตามกันมา เพราะได้เรียนตามกันมา เพราะได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เพราะเสียงเล่าลือ เพราะอ้างตำรา เพราะตรรกะ เพราะอนุมานเอา เพราะคิดตรองตามแนวเหตุผล เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน เพราะมีรูปลักษณะน่าเชื่อ และเพราะเห็นว่าเป็นสมณะ เป็นครูอาจารย์ของเรา ดังนั้นจากหลักธรรมข้อนี้แสดงให้เห็นว่าบุคคลทุกคนไม่ควรเชื่ออย่างไร้เหตุผล การจะเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะต้องมีการพิสูจน์ ตรวจสอบ คิดไตร่ตรองด้วยสติปัญญา เป็นต้น



1.4 หลักการแก้ปัญหาด้วยการกระทำของมนุษย์ตามหลักเหตุผล เป็นหลักที่มนุษย์สามารถแก้ปัญหาด้วยการกระทำ

ของตนเองและด้วยสติปัญญาของตนเอง ไม่ใช่หวังอ้อนวอนจากปัจจัยภายนอกหรือสิ่งที่เหนือธรรมชาติ เช่น ภูตผีปีศาจ รุกขเทวดา เทพเจ้า ทั้งหลาย เป็นต้น พระพุทธเจ้าเล่าไว้ในพุทธพจน์ที่ตรัสว่า“มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว พากันถึงเจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าภูผา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่ง แต่สิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่สรณะอันเกษม เมื่อยึดเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นสรณะ ย่อมไม่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง”“แต่ชนเหล่าใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ รู้เข้าใจอริยสัจ 4 เห็นปัญหา เหตุเกิดแห่งปัญหา ภาวะไร้ปัญหา และวิธีปฏิบัติให้ถึงความสิ้นปัญหาจึงจะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

วิธีการแก้ปัญหาด้วยปัญญาของมนุษย์ ก็คือ หลักธรรม “อริยสัจ 4” ได้แก่



1) ทุกข์ คือ เริ่มด้วยปัญหา ต้องรู้ปัญหาเกิดจากอะไร

2) สมุทัย คือ สืบสาวหาสาเหตุของปัญหา

3) นิโรธ คือ กำหนดจุดหมายที่จะดับหรือแก้ปัญหานั้น ๆ

4) มรรค คือ ปฏิบัติตามวิธีการให้ถึงความดับหรือแก้ปัญหานั้น ๆ ได้



1.5 หลักกฎแห่งกรรม เป็นหลักที่ว่าด้วยกรรม (การกระทำ) และวิบากกรรม (ผลของการกระทำ) ซึ่งเป็นหลักสากลที่ว่า การกระทำกรรมใดก็ตามก็ย่อมได้รับผลกรรมนั้นตอบสนอง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ หากตนเองกระทำเรื่องใดก็ตามก็ย่อมได้ผลการกระทำนั้นตอบสนอง นั่นคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น

1.6 หลักพระธรรมวินัย หลักการของพระธรรมวินัยหรือคำสั่งในพระพุทธศาสนา ที่ถือว่าเป็นสากลสามารถ


นำไปปฏิบัติได้ทุก ๆ คน ได้แก่

1) สอนให้พึ่งตนเอง

2) สอนให้ทำความดีด้วยการเสียสละ

3) สอนให้เอาชนะใจตนเอง

4) สอนให้ลงมือปฏิบัติเพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริง

5) สอนให้ถือความถูกต้องเป็นหลัก

6) สอนให้ก้าวหน้าในความดีเสมอ